พัฒนาการของไทยต่อการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสาบสูญ

พัฒนาการของไทยต่อการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสาบสูญ

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 ก.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,032 view

              ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสาบสูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้าเป็นภาคีและการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศตามอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนหลักที่สำคัญ โดยมีพัฒนาการสำคัญ ดังนี้

          ๑. ไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน  ๒๕๕๐ และได้ลงนามรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: ICPPED) เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๕ ซึ่งคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติเห็นชอบในหลักการการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญา ICPPED เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๙ และเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๐ ตามลำดับ ทั้งนี้ ตั้งแต่เข้าเป็นภาคีอนุสัญญา CAT ไทยได้ดำเนินการเพื่อผลักดันการปฏิบัติตามพันธกรณีที่กำหนดไว้ในอนุสัญญา CAT โดยดำเนินมาตรการต่าง ๆ ทางนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ หรือมาตรการอื่น ๆ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำการทรมานฯ และการจัดให้มีการเยียวยาผ่านกลไกของ พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๔๔ และ พ.ร.บ. กองทุนยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๕๘ การจัดทำรายงานและการนำเสนอรายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญา CAT ฉบับแรกในปี ๒๕๕๗ โดยหน่วยงานไทยอยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อจัดทำรายงานฉบับที่ ๒ ซึ่งมีกำหนดส่งในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๑ โดยนำข้อสังเกตเชิงสรุป (Concluding Observations) และคำแนะนำต่าง ๆ ของคณะกรรมการประจำอนุสัญญาฯ มาพิจารณาร่วมด้วย

         ๒. ในการรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบแรก (ปี ๒๕๕๔) และรอบที่ ๒ (ปี ๒๕๕๙) ไทยยังได้ตอบรับข้อเสนอแนะและให้คำมั่นโดยสมัครใจที่จะดำเนินการที่สำคัญ อาทิ การให้สัตยาบันต่อพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญา CAT (OPCAT) การประกันให้มีการปฏิบัติตามอนุสัญญา CAT อย่างเต็มรูปแบบในกฎหมายภายในประเทศ ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งกลไกป้องกันการทรมานฯ ระดับชาติ โดยที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมได้จัดการฝึกอบรมสำหรับตำรวจและทหารสำหรับการปฏิบัติหน้าที่รวมถึงการเตรียมความพร้อมการเข้าเป็นภาคี OPCAT อย่างต่อเนื่อง รวมถึงแสวงหาความร่วมมือในกิจกรรมเสริมสร้างขีดความสามารถดังกล่าวร่วมกับองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the High Commissioner for Human Rights: OHCHR) นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังจัดการฝึกอบรมให้แก่บุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับการตรวจร่างกายและจิตใจของผู้ที่สงสัยว่าถูกกระทำทรมานด้วย

         ๓. ไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ... ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในหลักการแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนร่าง พ.ร.บ. ควบคู่กับการดำเนินการตามมาตรา ๗๗ วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่กำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและการจัดทำการประเมินผลกระทบของกฎหมาย

          ๔. ล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๐ กระทรวงยุติธรรมได้จัดการประชุมคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๐  โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมได้กำหนดกระบวนการและแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี โดยมีหน้าที่รับเรื่องร้องทุกข์ ตรวจสอบพิจารณาข้อเท็จจริง ติดตามช่วยเหลือเยียวยา และคุ้มครองสิทธิให้กับประชาชนในกรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งจะดำเนินการโดยได้รับการสนับสนุนของคณะอนุกรรมการ ๓ คณะ ได้แก่ (๑) การติดตามและตรวจสอบ  (๒) การเยียวยา และ (๓) การป้องกันและให้ความรู้ ตลอดจนเพิ่มช่องทางการร้องทุกข์ของประชาชนที่รวมถึงหน่วยงานรัฐ (กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ.